ลำต้นใต้ดิน

ลำต้นใต้ดิน
ลำต้นใต้ดิน  ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นราก  เนื่องจากมีรากแตกออกมาจากลำต้นเหล่านั้น  ลักษณะเหมือนกับรากแขนงแตกออกมาจากรากแก้ว  ลักษณะของลำต้นใต้ดินที่แตกต่างจากรากคือมีข้อ และปล้องเห็นได้ชัดเจนบางครั้งมีตาอยู่ด้วย  ต้นไม้ที่มีลำต้นใต้ดินมักมีอายุยืน ในแต่ละปีจะส่งหน่อ ที่เป็นส่วนของลำต้นหรือกิ่งขึ้นมาเหนือพื้นผิวดิน  เพื่อออกดอกและให้ผล  แล้วส่วนนี้ก็ตายไปเหลือแต่ลำต้นใต้ดินเอาไว้
รูปร่างลักษณะของลำต้นใต้ดินต่างจากลำต้นเหนือดินที่พบเห็นทั่วไป  อาจมีรูปร่างลักษณะกลมหรือเป็นแท่งยาว  เป็นแง่ง  หรือเป็นหัว เช่นเดียวกับรากสะสมอาหาร  จากรูปร่างของลำต้นใต้ดินที่แตกต่างกันจึงมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป
ชนิดของลำต้นใต้ดิน  จำแนกจากรูปร่างลักษณะดังนี้
1. แง่งหรือเหง้า  (Rhizome)  ลำต้นใต้ดินจะอยู่ขนานกับผิวดินเห็นข้อปล้องได้ชัดเจน  ตามข้อมีใบสีน้ำตาลที่ไม่มีคลอโรฟิลล์  มีลักษณะเป็นเกล็ด เรียกว่า ใบเกล็ด  หุ้มตาเอาไว้ มีรากงอกออกจากเหง้า  หรือแง่งนั้น ๆ ตาอาจแตกแขนงเป็นใบอยู่เหนือดิน  หรือเป็นลำต้นอยู่ใต้ดินก็ได้  เช่นหญ้าแห้วหมู  ขิง ข่า  ขมิ้น  มันฝรั่ง  ว่าน สาระแหน่  หญ้าแพรก  พุทธรักษา กล้วย  เป็นต้น  สำหรับต้นกล้วยที่เราเห็นส่วนที่อยู่เหนือดินขึ้นมานั้นเป็นก้านใบที่แผ่ออกเป็นกาบ  (Sheath) ซ้อนรวมกันเหมือนเป็นมัดนั่นเอง  โดยลำต้นจริงเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน  เช่นเดียวกับพุทธรักษา  ขิง ข่า  ที่มีลักษณะเป็นแง่ง  บางคนแบ่งแยกว่าลำต้นกล้วยงอกส่วนที่เป็นกาบใบขึ้นมาในแนวตั้ง  จึงเรียกลำต้นใต้ดินของกล้วยว่า รูทสตอก  (Rootstock ) ส่วนลำต้นใต้ดินที่งอกขนานไปกับพื้นดินเรียกว่า   ไรโซม (Rhizome)
2.  ทูเบอร์ (Tuber) เป็นลำต้นใต้ดินที่งอกออกมาจากปลายไรโซมมีปล้องเพียง  3-4  ปล้อง  ตามข้อไม่มีใบเกล็ดและราก  สะสมอาหารเอาไว้มากในลำต้นส่วนใต้ดิน  จึงดูอ้วนใหญ่กว่าหัวชนิดไรโซม  แต่บริเวณที่เป็นตาจะบุ๋มลงไป ตัวอย่างเช่น มันฝรั่ง  เหนือดินมีลำต้น และใต้ดินมีไรโซม  ซึ่งบริเวณปลายพองออกเป็นทูเบอร์  ดังในรูปที่ชี้ว่าเป็น “Eye”  นั้นคือตานั่นเองถ้ามีความชื้นพอเพียง  ต้นใหม่จะงอกออกมาจากบริเวณตา  ซึ่งผิดกับหัวมันเทศซึ่งเป็นรากไม่สามารถงอกต้นใหม่จากบริเวณหัวที่มีรอยบุ๋มได้ เพราะไม่ใช่ตา
ตัวอย่างอื่น ๆ ของหัวชนิดทูเบอร์  ได้แก่ หญ้าแห้วหมู  หัวมันมือเสือ  มันกลอย
3.  หัวกลีบ  หรือบัลบ์  (Bulb) เป็นลำต้นใต้ดินที่ตั้งตรง  อาจมีส่วนพ้นดินขึ้นมาบ้างก็ได้  ลำต้นมีขนาดเล็กที่มีปล้องที่สั้นมาก  บริเวณปล้องมีใบเกล็ดที่ซ้อนกันหลายชั้นจนเห็นเป็นหัว  เช่น หัวหอม  หัวกระเทียม  อาหารสะสมอยู่ในใบเกล็ด  ในลำต้นไม่มีอาหารสะสม  บริเวณส่วนล่างของลำต้นมีรากเส้นเล็ก ๆ แตกออกมาหลายเส้น  เมื่อนำหัวหอมมาผ่าตามยาว จะพบใบเกล็ดเป็นชั้นๆ ชั้นนอกสุดเป็นแผ่นบาง ๆ เนื่องจากไม่มีอาหารสะสมชั้นถัดเข้าไปมีอาหารสะสม  จึงมีความหนากว่าแผ่นนอก  ชั้นในสุดของลำต้นเป็นส่วนยอด  ถ้าเอาหัวชนิดนี้ไปปลูกส่วนยอดจะงอกออกมาเป็นใบสีเขียว
4.  คอร์ม (Corm)  ลักษณะของลำต้นใต้ดินที่ตั้งตรงเช่นเดียวกับหัวกลีบ  ลักษณะที่แตกต่างกันคือเก็บอาหารไว้ในลำต้นแทนที่จะเก็บไว้ในใบเกล็ด  ลำต้นจึงมีลักษณะอวบใหญ่  ทางด้านล่างของลำต้นมีรากเส้นเล็ก ๆ หลาย  ๆ เส้น ที่ข้อมีใบเกล็ดบาง ๆ หุ้ม  ตาแตกออกมาจากข้อเป็นใบชูขึ้นสูงหรืออาจเป็นลำต้นใต้ดินต่อไป  ตัวอย่างเช่น  เผือก  ซ่อนกลิ่นฝรั่ง  และแห้ว  เป็นต้น

ครูแชมป์ พิริยะ ตระกูลสว่าง

การแสดงความเห็นถูกปิด