การสืบพันธุ์ของพืชดอก : ชนิดของพืชดอก

ชนิดของพืชดอก

พืชดอก หมายถึง  พืชที่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะมีดอกให้เห็น พืชดอกจัดเป็นพืชชั้นสูงที่มีอวัยวะต่างๆ ครบสมบูรณ์ คือ ราก ลำต้น ใบ ตา ดอกและ  เมล็ด มีไว้เพื่อสำหรับขยายพันธุ์พืชดอกมีอยู่ทั่วไปหลายชนิด มีทั้งที่อยู่บนบกและอยู่ในน้ำ

แหล่งที่พบพืชดอก มี ๒ แหล่ง คือ

๑. พืชดอกที่อยู่บนบก เช่น มะม่วง กุหลาบ  มะเขือ
๒. พืชดอกที่อยู่ในน้ำ เช่น บัว   ผักตบชวา   แหน

พืชดอกแบ่งได้ ๒ ประเภท

๑. พืชยืนต้น  คือพืชที่มีอายุยืน  ส่วนต่างๆ ของลำต้นสามารถเจริญเติบโตได้ตลอดอายุ  ออกดอกออกผลได้หลายครั้ง เช่น ยางพาราและไม้ผลต่าง ๆ พวกมะม่วง  มะพร้าว  มะขาม  กระท้อน เป็นต้น
๒. พืชล้มลุก  คือพืชที่มีการเจริญเติบโตเพียงแค่ออกดอกออกผลในระยะเวลาอันสั้น แล้วก็ตาย  พืชล้มลุกที่จำเป็นสำหรับมนุษย์มาก ได้แก่ พืชจำพวกผักต่างๆ ผักกาด  ผักชี  ต้นหอม  กะหล่ำปลี  บวบ  ฟักทอง  ฯลฯ

พืชมีดอก ยังสามารถจำแนกออกได้เป็น  ๒  พวกใหญ่  ๆ  คือ  พืชใบเลี้ยงเดี่ยวและพืชใบเลี้ยงคู่

พืชใบเลี้ยงเดี่ยว   คือพืชที่มีใบเลี้ยงเพียงใบเดียว   เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะเห็นข้อและปล้องในส่วนของลำต้นชัดเจน   ใบมักมีลักษณะแคบเรียว    เส้นใบเรียงตัวในแนวขนาน   กลีบดอกมีจำนวน   ๓  กลีบ หรือทวีคูณของ  ๓   รากเป็นระบบรากฝอย   ตัวอย่างพืชใบเลี้ยวเดี่ยว  เช่น   ข้าวโพด   อ้อย  หญ้า ไผ่ วาสนา พุทธรักษา กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ว่านหางจระเข้ธูปฤาษี สับประรด กล้วยไม้ ปทุมมา เป็นต้น

ลักษณะพืชเลี้ยงใบเดียว
-ลักษณะเส้นใบเรียงกันแบบขนาน
-มีระบบรากฝอย
-ลำต้นมองเห็นข้อปล้องชัดเจน
-ไม่มีการเจริญทางด้านข้าง
-ส่วนประกอบของดอก เช่นกลีบดอก มีจำนวนเป็น ๓ หรือทวีคูณของ ๓

ตัวอย่างและความสำคัญของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว
๑. กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์ Orchidaceae เป็นไม้ตัดดอกยอดนิยม เนื่องจากมีลักษณะดอกและสีสันลวดลายสวยงาม เป็นไม้ตัดดอกที่มีอายุการใช้งานได้นาน กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย เพราะเป็นไม้ส่งออกขายต่างประเทศทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท

๒. ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีปริมาณมากเป็นอันดับสอง และอาจจะเป็นวงศ์ที่โดดเด่นกว่า ก็คือ หญ้า (Poaceae หรือ Gramineae) โดยมีวิวัฒนาการอีกทางหนึ่ง มีลักษณะพิเศษคือ การแพร่ขยายพันธุ์โดยอาศัยลม พืชในวงศ์หญ้านั้นมีดอกขนาดเล็ก แต่เมื่อรวมเป็นกลุ่มอาจปรากฏเป็นช่อดอกที่มองเห็นชัดเจนและสวยงาม

๓. ปทุมมา เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีลำต้นสะสมอาหารอยู่ใต้ดินแบบเหง้า มีการเจริญเติบโตทางลำต้นและให้ดอกในช่วงฤดูฝนราวเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน จากนั้นจะทิ้งใบจนหมดแล้วพักตัวอยู่ในดินตลอดช่วงฤดูหนาวราวเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อถึงฤดูฝนก็จะเจริญเติบโตออกดอกอีกครั้ง ดอกปทุมมามีรูปทรงสง่าและมีสีสันสวยงาม

พืชใบเลี้ยงคู่  คือ พืชที่มีใบเลี้ยง  ๒ ใบ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะเห็นข้อและปล้องในส่วนของลำต้นไม่ชัดเจน ใบมีลักษณะกว้าง เส้นใบแตกแขนงเป็นร่างแห รากเป็นระบบรากแก้ว กลีบดอกมีจำนวน  ๔  –  ๕ กลีบ หรือทวีคูณของ  ๔ – ๕  ตัวอย่างพืชใบเลี้ยงคู่ได้แก่  ถั่ว พริก มะม่วง  เป็นต้น

   ลักษณะพืชใบเลี้ยงคู่
-มีใบเลี้ยง ๒ ใบ
-ลักษณะเส้นใบเป็นร่างแห
-มีระบบรากแก้ว
-ลำต้นมอง เห็นข้อปล้องไม่ชัดเจน
-การเจริญออกทางด้านข้าง
-ส่วนประกอบ ของดอกคือ กลีบดอกมีจำนวนเป็น ๔-๕ หรือ ทวีคูณของ ๔-๕

ตัวอย่างและความสำคัญของพืชใบเลี้ยงคู่
ถั่ว คือ พืชที่อยู่ในวงศ์ Fabaceae จัดแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ
-ถั่วฝัก (Bean) เป็นถั่วในฝักที่มีเมล็ดไม่กลม กินได้ทั้งฝัก เช่น ถั่วแขก ถั่วพู ถั่วฝักยาว ถั่วแปบ หรือกินเฉพาะเมล็ด เช่น ถั่วเหลือง ถั่วปากอ้า
-ถั่วฝักเมล็ดกลม (Pea) เป็นถัวในฝักที่มีเมล็ดกลม กินฝักสดที่ยังไม่แก่เต็มที่ บางครั้งเรียกว่า Green Pea เช่น ถั่วลันเตา
-ถั่วเมล็ดแบน (Lentil) ลักษณะเมล็ดแบนเล็กเหมือนนัยน์ตาคน มีหลายสี เช่น เขียว น้ำตาล
พริก เป็นพืชในตระกูล Solanaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Capsicum frutescens L. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Chilli peppers, chili, chile หรือ chilli มาจากคำภาษาสเปน ว่า chile โดยส่วนมากแล้ว ชื่อเหล่านี้มักหมายถึง พริกที่มีขนาดเล็ก ส่วนพริกขนาดใหญ่ที่มีรสอ่อนกว่าจะเรียกว่า Bell Pepper ในสหรัฐอเมริกา Pepper ในประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์, capsicum ในประเทศอินเดียกับออสเตรเลีย และ Paprika ในประเทศทวีปยุโรปหลายประเทศ

มะม่วง เป็นไม้ยืนต้นในตระกูล Mangifera ซึ่งเป็นไม้ผลเมืองร้อนในวงศ์Anacardiaceae ชื่อวิทยาศาสตร์:Mangifera indicaเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบโต ยาว ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ใบอ่อนสีแดง ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็ก สีขาว ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง เมล็ดแบน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง มะม่วงเป็นผลไม้เศรษฐกิจ ปลูกเป็นพืชสวน ประเทศไทยส่งออกมะม่วงเป็นอันดับ ๓ รองจากฟิลิปปินส์ และแม็กซิโก

การแสดงความเห็นถูกปิด