ปัญหาสารเสพติดและทักษะการปฏิเสธ

สาเหตุการติดยาเสพติด
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ระบุสาเหตุของการติดยาเสพติด ซึ่งสามารถแบ่งสาเหตุเป็น 3 ด้าน ดังนี้

1.ด้านร่างกาย
1.1ในวัยรุ่นฮอร์โมนในร่างกายและอวัยวะต่างๆเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้วัยรุ่น มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านอารมณ์
จิตใจ และสังคม ตามมา อันจะนำไปสู่การทดลองใช้ยาเสพติด และเมื่อทดลองใช้ ยาเสพติดจะส่งผลต่อสมอง
บริเวณที่เกี่ยวข้องกับ reward pathway ทำให้กระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทโดปามีนออกมาเป็นจำนวนมากกว่าปกติ
ให้เกิดความสุข และความพึงพอใจ จึงนำไปสู่ภาวะการเสพติดในที่สุด
1.2 เป็นโรคชนิดต่างๆหรือมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น พิการ หรือต้องพึ่งยาบางชนิดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดของร่างกาย
1.3 กรรมพันธุ์ จากบทความทางวิชาการของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เรื่องพันธุกรรมมีส่วนในการทำให้ป่วยเป็นโรคติดสุราแต่ยังไม่ทราบยีนที่ชัดเจนพบว่า ร้อยละ 50-60 พันธุกรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นโรคติดสุราและยาเสพติด

 



 
2.ด้านจิตใจ
2.1 ตามทฤษฎีพัฒนาการของอีริคสัน ได้กล่าวว่าในช่วงวัยรุ่นมีอารมณ์ปั่นป่วน เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย โกรธง่าย อาจเกิดอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุได้ง่าย อารมณ์เหล่านี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว มีผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิตอาจนำไปสู่การติดยาเสพติด
2.2 ความอยากรู้อยากเห็น อยากลอง อยากมีประสบการณ์
2.3 วัยรุ่นที่ด้อยโอกาสต้องการหนีจากสภาพของตนชั่วคราว
การใช้ยานับเป็นการที่ทำให้ตนลืมเหตุการณ์นั้นได้ชั่วคราว
2.4 การใช้ยาเป็นกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายจิตใจ
2.5 การใช้ยาเพื่อลดความกระวนกระวาย ความทุกข์ ความโดดเดี่ยวเหมือนการถูกละทิ้ง
หรือเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานทางจิตใจ

3.ด้านสังคม
3.1 เนื่องจากวัยรุ่นตามทฤษฎีของอีริคสันเป็นวัยที่เริ่มห่างจากพ่อแม่ แต่จะเริ่มสนิทและสนใจเพื่อนมากกว่าจะใช้เวลากับเพื่อนนานๆ มีกิจกรรมนอกบ้านมาก จึงมักถูกเพื่อนชักชวนไปใช้ยาเสพติดได้ง่าย
3.2 สิ่งแวดล้อมนับว่าเป็นอิทธิพลสำคัญอย่างยิ่งในการชักจูงให้ใช้ยาเสพติด เช่น อยู่ในละแวกที่มีการค้ายาเสพติด ครอบครัวขาดความอบอุ่น เป็นต้น

สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ (TDRI) พบว่า
สาเหตุที่สำคัญที่สุดของการติดยาเสพติดของเยาวชนที่เข้ารับการบำบัดรักษา คือ อยากทดลองใช้ เพื่อนชักชวน มีเรื่องไม่สบายใจ และเพื่อความสนุกสนาน นอกจากนี้วัยรุ่นยังต้องการได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน เพราะกลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นมาก อีกทั้งเป็นช่วงวัยที่มีความอ่อนไหวเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ถ้าหากวัยรุ่น ขาดความเข้มแข็ง ไม่มีทักษะในการดำเนินชีวิตที่เพียงพอ ก็จะถูกชักจูงไปใช้ยาเสพติดได้โดยง่าย ซึ่งการที่จะป้องกันไม่ให้เด็กวัยรุ่นหันไปใช้ยาเสพติดได้นั้นมีหลากหลายวิธี วิธีการเสริมสร้างทักษะการปฏิเสธให้กับเยาวชนถือเป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันยาเสพติดที่สอดคล้องกับสาเหตุและสกัดกั้นที่ต้นเหตุของปัญหา

ทักษะการปฏิเสธ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน
ในสังคมไทยการปฏิเสธดูเป็นเรื่องด้านลบ ส่วนในด้านวัฒนธรรมก็จะดูขัดกับความเป็นผู้มีอัธยาสัยที่ดี
แต่การปฏิเสธถือเป็นวิธีการสื่อสารอย่างหนึ่งในการผัดผ่อนต่อรองคำชักชวนของเพื่อนที่ชักจูงไปใช้ยาเสพติด
หากวัยรุ่นสามารถปฏิเสธคำชักชวนของเพื่อนได้อย่างนิ่มนวลและไม่เสียสัมพันธภาพ วัยรุ่นก็จะรอดพ้นจากการ
ตกเป็นทาสยาเสพติดได้ ซึ่งจากการทบทวนเอกสารในเรื่อง ทักษะการปฏิเสธ
ของสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด รวมทั้งใบความรู้ เรื่อง หลักการปฏิเสธและการเตือนเพื่อน ของ ทัศนีย์
ไชยเจริญ และจากข้อมูลสายด่วน 1165 ของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี
สามารถสรุปได้ว่า ทักษะ การปฏิเสธหรือการปฏิเสธที่ดีนั้น มีขั้นตอนปฏิบัติ ดังนี้
1. การใช้ความรู้สึกเป็นข้ออ้างประกอบเหตุผล เพราะการใช้เหตุผลอย่างเดียวมักถูกโต้แย้งด้วยเหตุผลอื่น
การอ้างความรู้สึกจะทำให้โต้แย้งยากขึ้น เช่น “ฉันไม่สบายใจเลย พ่อแม่จะเป็นห่วง ถ้ากลับบ้านช้า” เป็นต้น
2. การขอปฏิเสธ เป็นการบอกปฏิเสธให้ชัดเจนเป็นคำพูด เช่น “ขอไม่ไปนะเพื่อน”
3. การขอความเห็นชอบ กล่าวขอบคุณพร้อมแสดงความห่วงใยเมื่อผู้ชวนยอมรับเพื่อรักษาน้ำใจ
ผู้ชวน เช่น “เธอคงไม่ว่าอะไรใช่ไหม” เป็นต้นและหากการปฏิเสธในครั้งแรกไม่สำเร็จ อาจถูกสบประมาทจาก
ผู้ชวน เมื่อผู้ชวนเซ้าซี้ ควรปฏิเสธซ้ำด้วยท่าทีมั่นคง และมีทางออก 3 วิธี คือ การปฏิเสธซ้ำ
การต่อรองโดยการชวนไปทำกิจกรรมอื่นที่ดีกว่าแทน หรือการผัดผ่อน
โดยการขอยืดระยะเวลาออกไปเพื่อให้ผู้ชวนเปลี่ยนความตั้งใจ
ปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างทักษะปฏิเสธในเยาวชน

การที่เยาวชนจะสามารถมีทักษะในการปฏิเสธตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยในหลายด้าน
ไม่ว่าจะเป็น ทัศนคติส่วนบุคคล ,ความตระหนักรู้ในตนเอง(self awareness),ความเห็นใจผู้อื่น(emphathy),
ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง(self-esteem) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม(social responsibility)
ในรายงานผลการศึกษาเรื่องการสื่อสาร ความรู้
ทัศนคติและทักษะการปฏิเสธสิ่งเสพติดของนักเรียนมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร(จิตรา ธนสารเสณี,2541)พบว่า
ผู้ที่มีทัศนคติต่อการป้องกันยาเสพติดทางบวก
จะมีทักษะการปฏิเสธสิ่งเสพติดมากกว่าผู้ที่มีทัศนคติต่อการป้องกันสิ่งเสพติดในทางลบ
ดังนั้นควรเสริมสร้างให้เยาวชนมีทัศนคติที่ดีในการป้องกันยาเสพติด ด้วยการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ตามองค์ประกอบของทักษะของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (2543) ได้กล่าวว่าบุคคลจะมีทักษะต่างๆ
ได้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. ความตระหนักรู้ในตน (self awareness) คือความสามารถและเข้าใจในจุดดีจุดด้อยของตนเอง
2. ความเห็นใจผู้อื่น (empathy) คือ ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกและเห็นอกเห็นใจบุคคลที่แตกต่างกับเรา
3. ความภูมิใจในตนเอง (self-esteem) คือ ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เช่นความมีน้ำใจ รู้จักให้รู้จักรับ
ค้นพบและภูมิใจในความสามารถด้านต่าง ๆของตน
4. ความรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility) คือ ความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
และมีส่วนรับผิดชอบในความเจริญหรือความเสื่อมของสังคม
ความรับผิดชอบต่อสังคมมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความภาคภูมิใจในตนเอง เพราะหากมีความภูมิใจในตนเอง
คนเหล่านี้ก็มีแรงจูงใจที่จะทำดีกับผู้อื่นและสังคม ซึ่งจากองค์ประกอบทั้งหมดสอดคล้องกับผลการศึกษาความสามารถ
การใช้ทักษะ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม ปีการศึกษา
2554 (ชุลีพร ดัดงาม,2554) พบว่า นักเรียนที่มีการตระหนักรู้ ภูมิใจในตนเอง เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น
ทำให้บุคคลนั้นมีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตอยู่ในระดับสูงทุกด้าน ดังนั้นการที่จะเสริมสร้างให้เยาวชนเกิดทักษะ
ปฏิเสธซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต ได้นั้น ต้องเริ่มปลูกฝังและสร้าง การตระหนักรู้ ภูมิใจในตนเอง
การเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น รวมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีต่อการป้องกันยาเสพติด ให้กับเยาวชนตั้งแต่เยาว์วัย
เพื่อให้การสร้างทักษะการปฏิเสธเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสร้างทักษะปฏิเสธให้กับเยาวชน
การจะสร้างทักษะปฏิเสธให้กับเยาวชน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือบุคคลใกล้ชิดของเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษา
ซึ่งได้แก่ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ สามารถมีส่วนช่วยให้เยาวชนมีทักษะปฏิเสธได้ ดังนี้
ผู้ปกครอง เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเสริมสร้างทักษะปฏิเสธ
โดยสามารถสร้างองค์ประกอบต่างๆให้เกิดขึ้นตั้งแต่เยาว์วัย
ในรายงานผลการศึกษาการเห็นคุณค่าแท้ในตนเองของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล :
กรณีศึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (ธนารัฐ มีสวย,สุภาพร ธนะชานันท์
และอ้อมเดือน สดมน์,2553) พบว่า การถ่ายทอดทางสังคมจากสถาบันครอบครัว คือการได้รับการอบรมเลี้ยงดู
แบบชี้เหตุผลสนับสนุน และมีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ส่งผลต่อการเห็นคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเอง
สถาบันครอบครัวจึงมีบทบาทที่สำคัญหากผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุตรหลาน ปลูกฝังและสร้างองค์ประกอบต่างๆ
ที่จะช่วยทำให้เยาวชนเป็นผู้มีทักษะในการปฏิเสธที่ดีได้ ก็จะทำให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันและพ้นภัยจากยาเสพติด โดยอาศัย
KNOW เป็นหลักสำคัญ ในการสร้างทักษะปฏิเสธ ดังนี้
K= Know คือ ผู้ปกครองต้องมีความรู้เท่าทันสถานการณ์ยาเสพติด และมองว่ายาเสพติดเป็นเรื่องใกล้ตัว
สอนให้บุตรหลานเลือกรับสื่อที่เหมาะสม และปฏิเสธสื่อที่ชักจูงไปในทางที่ผิด
N=No คือ ผู้ปกครองต้องปลูกฝังให้บุตรหลานปฏิเสธ หรือกล้าที่จะพูดคำว่า “ไม่” เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้น ไม่ถูกต้อง
O=Opportunity คือ ผู้ปกครองต้องให้โอกาสเมื่อบุตรหลานกระทำความผิด
ชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง
W=Warm คือ การสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว เป็นเสมือนการสร้างเกราะป้องกันอัน แข็งแกร่ง
ให้บุตรหลานมีทักษะที่ดี พร้อมเผชิญกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ครู อาจารย์ สามารถเสริมสร้างทักษะปฏิเสธได้โดยการจัดการเรียนการสอน รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เยาวชนเกิดทักษะ
โดยเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนี้
1. ส่งเสริมกิจกรรมที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมค้นพบความรู้หรือสร้างความรู้ด้วยตนเองในด้านการคิดวิเคราะห์
และแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์
2. เสริมสร้างสัมพันธภาพและการใช้ทักษะการสื่อสาร ได้ฝึกการจัดการกับอารมณ์และความเครียดของตนเอง
3. ส่งเสริมการเรียนการสอนและกิจกรรมที่ทำให้เยาวชนรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เข้าใจผู้อื่น
รวมทั้งเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เช่น กิจกรรมยุวกาชาด หรือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์( ชุลีพร ดัดงาม,2554)

บทส่งท้าย
ทักษะปฏิเสธถือเป็นทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่งในการป้องกันเยาวชนให้พ้นจากยาเสพติด ซึ่งการสร้างทักษะ
การปฏิเสธนั้นไม่ใช่เรื่องยากหากปลูกฝังและเสริมสร้างตั้งแต่เยาว์วัย จากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ทั้งจากพ่อแม่ ครูอาจารย์
หรือจากสังคมรอบตัว เพื่อให้เยาวชนมีเกราะป้องกันเพียงพอในการที่จะเผชิญกับสิ่งเร้าทั้งภายใน และภายนอก
ที่เข้ามากระตุ้น และเมื่อเยาวชนมีองค์ประกอบต่างๆทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจที่เข้มแข็งเพียงพอ
จนกล้าที่จะปฏิเสธเพื่อน หรือการถูกชักชวนไปในทางที่ผิด โดยที่เขาเหล่านั้นยังคงมีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนฝูง
ก็จะทำให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันจากยาเสพติดได้ แต่อย่างไรก็ดีการสร้างทักษะการปฏิเสธอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
แต่ต้องทำให้เยาวชนเหล่านั้นมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี มีความรู้ความเข้าใจว่า สิ่งใดที่ควรกระทำ สิ่งใดไม่ควรกระทำ
รวมทั้งมีทัศนคติที่ถูกต้อง เพราะหากวัยรุ่นมีกาย จิต สังคมที่ดีเยี่ยมแล้วต่อให้มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆเข้ามา
ก็ไม่อาจทำให้เขาเดินทางผิดได้
บรรณานุกรม
กรมสุขภาพจิต.คู่มือการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตสำหรับเด็ก.กรุงเทพฯ:กรมสุขภาพจิต.2541.
จิตรา ธนสารเสณี.การศึกษาเรื่องการสื่อสาร ความรู้ ทัศนคติ และทักษะการปฏิเสธสิ่งเสพติดของนักเรียน
มัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร.วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2541.
ชุลีพร ดัดงาม.การศึกษาความสามารถการใช้ทักษะตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช
2551 โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม ปีการศึกษา 2554.วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต.
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,2554.
ทัศนีย์ ไชยเจริญ. “ใบความรู้ เรื่อง หลักการปฏิเสธและการเตือนเพื่อน”.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
http://www.slideshare.net (วันที่ค้นข้อมูล 24 มกราคม 2556).
ธนารัฐ มีสวย,สุภาพร ธนะชานันท์ และอ้อมเดือน สดมน์.การศึกษาการเห็นคุณค่าแท้ในตนเองของนักศึกษา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล:กรณีศึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.
สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์,2553.
บ้านจอมยุทธ์. “พัฒนาการทางจิตสังคม 8 ขั้นตามทฤษฎีของอีริคสัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
http://www.baanjomyut.com (วันที่ค้นข้อมูล 24 มกราคม 2556).
พงษ์สันต์ เจียมอ่อน. “สรุปนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการแก้ไขปัญหา
ยาเสพติด”.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก http://www.krucenter.net (วันที่ค้นข้อมูล 7 มกราคม 2556).
ศูนย์วิชาการยาเสพติด. “สาเหตุของการติดยาเสพติด”.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก http://notc.oncb.go.th
(วันที่ค้นข้อมูล 10 มกราคม 2556).
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี. “วิธีปฏิเสธยาเสพติด”.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
http://www.thanyarak.go.th (วันที่ค้นข้อมูล 24 มกราคม 2556).
สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด.คู่มือการสอนทักษะชีวิต.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ:บริษัท ฮีซ์ จำกัด,2549.
สุมาลี พันธุ์ยุรา. “คณะปฏิวัติ”.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก http://www.kpi.ac.th/wiki (วันที่ค้นข้อมูล 11 มกราคม 2556).

ข้อมูลจาก bangkok.go.th

 

:: ทักษะการปฏิเสธ ::

ในสภาพสังคมปัจจุบันบางคนคงเคยถูกชักชวนให้เสพยา ยิ่งถ้าเป็นวัยรุ่นหรือวัยเรียน ซึ่งอยู่ในวัยคึกคะนอง ชอบทดลองจะส่งผลเสียร้ายแรงทั้งต่อตัวเองและความรู้สึกของพ่อแม่ ทางที่ดีควรรู้จักปฏิเสธยาเสพติด ซึ่งวิธีการปฏิเสธมีหลายวิธีง่ายดังนี้ โดยสามารถเลือกใช้ได้ตามสถานการณ์ที่พบ
1. เดินเลี่ยงไปเหมือนไม่ได้ยิน
2. ปฏิเสธตรงๆ สั้นๆ หรือและพูดเสียงดังให้ผู้อื่นได้ยิน
3. หากสนิทสนมกัน นอกจากปฏิเสธแล้วควรชักชวนหรือดุด่าให้เลิกด้วย
4. หากไม่สนิทสนมหรือเป็นกลุ่มอิทธิพล ควรปฏิเสธแบบผลัดผ่อนหรืออ้างเหตุต่างๆ
5. เปลี่ยนเป็นพูดเรื่องอื่นแทรกขึ้นมาทันทีแทนการปฏิเสธ
6. ชักชวนให้ทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี หรืออื่นๆ
7. ปฏิเสธเพราะกลัวโทษที่จะได้รับจากผู้ปกครอง โรงเรียน หรือกฎหมาย
8. ปฏิเสธว่ามีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถใช้ยาต่างๆ ได้หรือแพ้ยาง่ายหรือไม่สบาย
9. ปฏิเสธโดยชี้ถึงบาป บุญ คุณ โทษและศาสนา หรือสงสารพ่อแม่
10. ทำเป็นไม่เข้าใจในสิ่งที่พูดชักชวน หรือพูดวกวนจนผู้ชวนหลีกไปเอง

ข้อมูลจากสถาบันธัญญารักษ์

การแสดงความเห็นถูกปิด