รายชื่อสัตว์ป่าสงวนที่เพิ่มมาใหม่

สัตว์ป่าสงวน เดิมมี 15 ชนิด เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ได้มีการเพิ่มขึ้นมาอีก 4 ชนิด จะมีอะไรบ้าง ตามครูแชมป์ไปดูกัน

เนื่องด้วยวันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดไว้ให้เป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นวันที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ทรงลงนามในพระปรมาภิไธยประกาศใช้ “พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503” ซึ่งทำให้มีสัตว์ป่าสงวน 9 ชนิด

เมื่อมีการแก้ไขกฎหมาย ทำให้เกิด “พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535” ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงชนิดสัตว์ป่าสงวนได้โดยสะดวกโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขหรือเพิ่มเติมเท่านั้น ส่งผลให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อสัตว์ป่าสงวนขึ้นอีก จึงทำให้ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 มีสัตว์สงวนด้วยกัน 15 ชนิด คือนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรีหรือโคไพร ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมัน เลียงผา กวางผาจีน นกแต้วแร้วท้องดำ นกกระเรียนไทย แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เก้งหม้อ และ พะยูน



    ในปีพ.ศ. 2558 ได้มีการรณรงค์ให้เพิ่มสัตว์น้ำอีก 4 ชนิดเป็นสัตว์สงวน ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านมติคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแล้ว ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558 และกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศให้เป็นสัตว์สงวนอย่างเป็นทางการในอนาคต ซึ่งสัตว์น้ำทั้ง 4 ชนิด ได้แก่


    Bryde’s whale/Photo credit: jirayu tour ekkul
    1. วาฬบรูด้า (Bryde’s whale) ชื่อของมันถูกตั้งให้ผู้ค้นพบมันเป็นคนแรก คือโยฮัน บรูด้า ในปี ค.ศ. 1909 มันถูกจัดว่าเป็นชนิดหนึ่งของวาฬไม่มีฟัน (Baleen Whale) ขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเขตร้อน มักอาศัยอยู่ในทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 16 องศาเซลเซียส เช่นในทะเลของประเทศไทย โดยในไทยพบว่ามีวาฬบรูด้าอยู่ประมาณ 20 – 25 ตัว โดยพบห่างจากชายฝั่ง 4 – 30 กิโลเมตรของทะเลอ่าวไทย

    วาฬบรูด้ามีรูปร่างเรียวสีเทาอมฟ้า มีครีบหลังเป็นรูปเคียวโค้งไปทางด้านหลังของลำตัว มีรอยจีบใต้ลำคอขนานกับลำตัวประมาณ 40 – 70 รอย ความยาวสูงสุดของตัวผู้โตเต็มวัยอยู่ที่ 15 เมตร ตัวเมียอยู่ที่ 16.5 เมตร และน้ำหนักสูงสุดอยู่ที่ 40 ตัน แต่ถึงแบบนั้นอาหารของมันกลับมีขนาดเล็ก คือแพลงก์ตอนของสัตว์จำพวกกุ้ง หมึกกระดอง และฝูงปลาขนาดเล็ก มันมักจะหากินเพียงลำพัง ยกเว้นวาฬเด็กที่ออกหากินกับแม่ โดยวิธีการกินอาหารของมันนั้นจะใช้ซี่กรองขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายตะแกรงที่อยู่บริเวณขากรรไกรบนของมัน กรองสัตว์ขนาดเล็กๆ เป็นอาหาร โดยวาฬบรูด้าเต็มวัยหนึ่งตัวอาจกินอาหารถึง 590 กิโลกรัมต่อวัน

    ปัจจุบันพวกมันถูกคุกคามจากมนุษย์จนมีจำนวนลดลงอย่างมาก เนื่องจากปลาและกุ้งขนาดเล็กซึ่งเป็นอาหารของมันมีจำนวนลดลงเพราะมนุษย์ และมนุษย์ยังปล่อยมลพิษทางน้ำ และมลพิษทางเสียงจากการเดินเรือยนต์ บางครั้งมันยังได้รับอุบัติเหตุจากอวนของชาวประมง หรือการขับเรือชนโดยมิได้ตั้งใจอีกด้วย

    Omura’s Whale/Photo credit: Salvatore Cerchio 
    2. วาฬโอมูระ (Omura’s whale) เป็นวาฬสายพันธุ์หายากที่มีความใกล้เคียงกับวาฬบรูด้า ถูกค้นพบครั้งแรกจากซากของมันในปี ค.ศ. 2003 และเมื่อพิจาณาจากซากแล้วจึงพบว่ามีความต่างจากวาฬบรูด้า กล่าวคือวาฬโอมูระนั้นมีขนาดเล็กกว่า ตัวผู้ที่โตเต็มวัยยาวเพียง 10 เมตร ตัวเมียยาวเพียง 11.5 เมตร รอยจีบใต้ลำคอมีจำนวนมากกว่า คือ 80 – 90 รอยจีบ และมีครีบหลังที่สูงกว่าและมีความโค้งน้อยกว่าของวาฬบรูด้า

    ความหายากของมันทำให้ไม่ทราบพฤติกรรมชัดเจน และข้อมูลที่อยู่อาศัยของมันในทะเลทั่วโลกยังคงเป็นปริศนา

     


    • Whale Shark/Photo from: wikipedia

     

    3. ฉลามวาฬ (Whale Shark) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มันเป็นปลากระดูกอ่อนเหมือนปลาฉลามชนิดอื่น มักอาศัยในทะเลที่น้ำมีอุณหภูมิ 18–30 องศาเซลเซียส ลำตัวของมันมีมีสีเทา มีลายจุดสีขาวและสีเหลืองอ่อนตามตัว ความยาวของวัยตัวโตเต็มวัยอยู่ที่ 5.5–10 เมตร แต่อาจยาวได้ถึง 12 เมตร และอาจหนักได้ถึง 20 ตัน ถึงแบบนั้นมันก็ยังกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารด้วยวิธีการกรองกินเช่นเดียวกับวาฬบรูด้า

    ฉลามวาฬใช้เหงือกในการหายใจ ต่างจากวาฬที่ใช้ปอด จึงไม่จำเป็นต้องโผล่มายังผิวน้ำเพื่อหายใจ ทำให้พบมันในทะเลลึก แต่มักอยู่ตามแนวปะการังในความลึกไม่เกิน 700 เมตร เหงือกของพวกมันมีช่องเหงือกห้าช่อง ซึ่งแต่ละตัวจะมีลักษณะจุดและลวดลายหลังจากเหงือกช่องที่ห้าแตกต่างกัน ทำให้สามารถจำแนกลักษณะเฉพาะตัวได้ พวกมันหนึ่งตัวอาจมีอายุยืนถึง 70 ปี แต่อายุมากกว่า 30 ปีแล้วก็มักจะไม่ผสมพันธุ์กับตัวอื่นอีก

    ฉลามวาฬไม่เป็นภัยต่อมนุษย์เช่นเดียวกับวาฬบรูด้า แต่กำลังประสบปัญหาคุกคามจากมนุษย์ทั้งการลดจำนวนลงของแพลงก์ตอน และมลพิษกับอุบัติเหตุจากเรือยนต์เช่นเดียวกัน แต่ฉลามวาฬจะพบการคุกคามที่รุนแรงกว่า คือการล่าพวกมันเพื่อตัดครีบที่เรียกว่า “หูฉลาม”


    Leatherback turtle/Photo from: worldwildlife.org
    4. เต่ามะเฟือง (Leatherback turtle) เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โตเต็มวัยยาวได้ถึง 2 เมตร เอกลักษณ์คือ กระดองมีลักษณะเหมือนผลมะเฟือง ไม่สามารถหดตัวเข้าไปในกระดองได้ และกระดองของมันไม่แข็งเหมือนเต่าชนิดอื่น แต่มีความยืดหยุ่นเหมือนยาง

    เต่ามะเฟืองสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 1,280 เมตร และดำได้นานถึง 85 นาที มันกินแมงกะพรุน แพลงก์ตอน และสาหร่ายเป็นอาหาร ถึงแบบนั้นก็ต้องขึ้นมาหายใจและวางไข่บนบก โดยวางไข่ประมาณ 80 ฟอง

    ปัจจุบันเต่ามะเฟืองมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว จากการเก็บไข่เต่าที่พวกมันขึ้นมาวางไว้บนบก รวมถึงการกินถุงพลาสติกที่ถูกทิ้งในทะเลเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นแมงกะพรุน

    ข้อมูลโดย  นายรักต์ศรา

    อ้างอิง:

    http://www.vcharkarn.com/varticle/503938

    animals.nationalgeographic.com/animals/fish/whale-shark/
    www.dnp.go.th/wildlifednp/index.php?option=com_content&view=article&id=13&Itemid=3
    www.iucnredlist.org/details/19488/0
    www.seethewild.org/whale-shark-facts/
    us.whales.org/species-guide/brydes-whale
    us.whales.org/species-guide/omuras-whale

การแสดงความเห็นถูกปิด